13 เรื่องน่ารู้ของยุงลาย

ยุงลาย สัตว์ชื่อคุ้นหูและเป็นที่รู้จักกันดีนี้คงเป็นที่ขยาดของทุกๆ คนอย่างแน่นอน เพราะนอกจากมันจะกัดและดูดเลือดของเราไปเป็นอาหารแล้ว มันยังเป็นพาหะนำโรคที่สามารถคร่าชีวิตของเราและคนที่เรารักไปได้อีกด้วย เจ้าสัตว์ตัวเล็กแต่เป็นพิษเป็นภัยต่อมนุษย์อย่างมหันต์นี้ มีพิษสงและเรื่องราวเป็นอย่างไร วันนี้ เรามาทำความรู้จักมันให้ลึกลงไป เพื่อหาทางหลีกเลี่ยงและห่างไกลจากมันกันดีกว่าค่ะ

  1. ยุงลายที่เป็นพาหะนำโรคและกัดเราอยู่แทบทุกวันนั้นมีอยู่ 2 ชนิดด้วยกัน ได้แก่ยุงลายบ้าน เป็นพาหะหลักสามารถพบเจอได้ตามบ้านเรือนทั่วไป และยุงลายสวน เป็นพาหะรอง สามารถพบมากตามป่าสวน ในพื้นที่ชนบทหรือชานเมือง
  2. ยุงลายชอบแสงริบหรี่รำไร มักออกหากินในเวลากลางวัน แต่ปัจจุบันเริ่มมีการพัฒนา คือออกหากินในเวลากลางคืนมากขึ้นเรื่อยๆ
  3. นอกจากยุงลายจะเป็นพาหะนำโรคไข้เลือดออกอย่างที่เราทุกคนทราบกันดีแล้ว ยุงลายยังเป็นพาหะของโรคไข้ซิกา ซึ่งเป็นโรคที่อันตรายต่อทารกในครรภ์ของมารดาอีกด้วย
  4. ยุงลายชอบวางไข่เหนือผิวน้ำที่ค่อนข้างสะอาด ไม่มีสารต่างๆ เจือปน โดยไข่ของยุงลายและยุงโดยทั่วไปที่เพิ่งว่างในระยะเริ่มแรกจะมีลักษณะเป็นสีขาวนวล แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไปไม่ถึงหนึ่งวัน ไข่จะกลายเป็นสีดำ
  5. ยุงลายตัวเมียสามารถออกไข่ได้ตั้งแต่ 30 -300 ฟองต่อครั้ง ขึ้นอยู่กับปัจจัยส่งเสริมต่างๆ อีกทั้งยังสามารถออกไข่ได้ตลอดชีวิตของมันอีกด้วย
  6. ยุงลายที่ชอบดูดเลือดของเราเป็นอาหารนั้นคือยุงลายตัวเมีย ส่วนยุงลายตัวผู้จะกินน้ำหวานจากเกสรดอกไม้เป็นอาหาร
  7. ทำไมยุงลายตัวเมียจึงต้องดูดเลือดของเราและสัตว์อื่นๆ ไปเป็นอาหาร? นั่นก็เป็นเพราะว่า การเจริญเติบโตของไข่ ในรังไข่ของยุงลายตัวเมียนั้น จำเป็นต้องใช้โปรตีนและแร่ธาตุจากเลือดของมนุษย์และสัตว์นั่นเอง
  8. ยุงลายตัวผู้และยุงลายตัวเมียสามารถทำการผสมพันธุ์กันได้กลางอากาศ ในขณะที่กำลังบินอยู่
  9. ยุงลายตัวผู้มีอายุโดยเฉลี่ยคือ 1 สัปดาห์ แต่ยุงลายตัวเมียที่อาศัยอยู่ในอุณหภูมิที่เหมาะสมรวมถึงได้รับปัจจัยสำคัญต่างๆ ที่เอื้อต่อการอยู่อาศัยของมันก็สามารถมีอายุอยู่ได้ถึง 2-6 สัปดาห์เลยทีเดียว
  10. วงจรชีวิตของยุงลายและยุงทุกๆ ชนิดนั้นเหมือนกันหมด คือเริ่มตั้งแต่ไข่ กลายเป็นลูกน้ำ พัฒนาเป็นตัวโม่ง และลอกคราบกลายเป็นยุง
  11. อาการคันที่ได้รับหลังจากยุงกัดนั้น เกิดจากการแพ้น้ำลายของยุง ซึ่งยุงจะฉีดน้ำลายของมันลงบนผิวของเราก่อนทำการเจาะเลือดนั่นเอง
  12. สำหรับเด็กๆ ต้องระมัดระวังการถูกยุงกัดเป็นพิเศษ เนื่องด้วยกลิ่นและลักษณะผิวสัมผัสของผิวหนังที่เอื้อต่อการกัด ทำให้ยุงลายโปรดปรานที่จะกัดและดูดเลือดเด็กมากกว่าผู้ใหญ่
  13. สมุนไพรและพืชที่สามารถนำมาไล่ยุงลายได้นั้นมีหลายชนิด ทั้งตระไค้ กานพลู ยูคาลิปตัส รวมไปถึงดอกไพรีทรัม

แม้ยุงลายจะเป็นสัตว์ตัวเล็กที่สามารถกำจัดได้ด้วยวิธีการที่ไม่ได้ยุ่งยากมากนัก แต่หากไม่หมั่นทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ของมัน ยุงลายก็จะยิ่งขยายพันธุ์และมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ ไม่เพียงแต่การกำจัดและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์เพียงอย่างเดียวเท่านั้น การป้องกันและปกป้องตนเองจากการถูกยุงลายกัดด้วยการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพต่างๆ ก็นับว่าเป็นเรื่องที่สำคัญเช่นเดียวกัน

อ้างอิงข้อมูลจาก
http://www.thaivbd.org/n/contents/view/324396
http://www.med.cmu.ac.th/dept/parasite/public/Mosquito.htm
http://webdb.dmsc.moph.go.th/ifc_nih/a_nih_1_001c.asp?info_id=378

Share:

บทความที่เกี่ยวข้อง

ข่าวและกิจกรรม

สาระน่ารู้