ไข้ซิกา ภัยร้าย ใกล้ตัวคุณ

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ไม่มีใครไม่เคยถูกยุงกัด โดยเฉพาะกับเจ้ายุงลาย ที่มีอยู่ทั่วทุกครัวเรือนและถือเป็นสัตว์ดึกดำบรรพ์ที่อยู่กับผู้คนมาอย่างช้านาน ซึ่งไม่เพียงแต่มันจะสร้างความรำคาญ ทำให้ผู้ถูกกัดเกิดตุ่มคันหรืออาการแพ้ และเป็นพาหะนำโรคไข้เลือดออกเท่านั้น แต่ยุงลายยังเป็นพาหะนำโรค “ไข้ซิกา” อีกด้วย

ไข้ซิกาไม่ใช่โรคใหม่ที่เพิ่งถูกค้นพบ แต่ถูกค้นพบมาในระยะเวลานานหลายปีแล้ว สาเหตุเกิดจากการติดเชื้อไวรัสซิกา ซึ่งเป็นเชื้อที่อยู่ในตระกูลเฟลวิไวรัส และเป็นเชื้อที่คล้ายกันกับไวรัสไข้เหลือง ไวรัสเดงกี ไวรัสไข้สมองอักเสบเจอี และไวรัสเวสต์ไนล์ โดยสามารถติดต่อถึงกันได้จากการถูกยุงลายกัด การมีเพศสัมพันธ์ รวมไปถึงการติดต่อจากแม่สู่ลูกในระหว่างตั้งครรภ์ ซึ่งเชื้อจะมีระยะฟักตัวโดยประมาณตั้งแต่ 4-7 วัน ผู้ได้รับเชื้อจะมีอาการไข้ ปวดศีรษะ มีผื่นแดง เยื่อบุตาอักเสบ รวมไปถึงอุจจาระร่วง แต่โดยส่วนใหญ่จะไม่แสดงอาการหนักมากนัก และสามารถหายป่วยได้เอง

ถึงแม้การได้รับเชื้อไวรัสซิกาจะไม่ได้อันตรายกับผู้คนโดยส่วนใหญ่มากนัก แต่ในกรณีที่ผู้รับเชื้อกำลังตั้งครรอนั้นถือว่ามีความเสี่ยงอย่างมาก เพราะทารกในครรภ์มีโอกาสที่จะได้รับเชื้อและได้รับผลกระทบโดยตรง ซึ่งอาจทำให้ทารกมีอาการสมองอักเสบ กะโหลกศีรษะเล็กกว่าปกติ หรือสมองฝ่อได้

ในประเทศไทยเองก็ได้มีการตื่นตัวและหาทางป้องกันกับโรคที่มียุงลายเป็นพาหะมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเดือนมกราคม 2559ที่ผ่านมา ซึ่งมีข่าวการแพร่ระบาดของไข้ซิกาเข้ามาในประเทศไทย ทั้งในต่างจังหวัดและในกรุงเทพมหานคร เนื่องจากผู้ติดเชื้อได้เดินทางไปในประเทศที่มีการแพร่ระบาดและเดินทางกลับเข้าประเทศไทย เมื่อมีการแพร่กระจายของเชื้อในวงกว้างมากขึ้น ผู้ติดเชื้อจึงมีหลากหลายวัย รวมไปถึงมีหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อด้วย แต่สุดท้ายแล้วเมื่อหญิงตั้งครรภ์ได้คลอดทารกออกมา ก็พบว่าทารกมีร่างกายแข็งแรงและปลอดภัยดี แต่ก็ยังต้องได้รับการเฝ้าติดตามอาการอยู่เช่นกัน และสำหรับในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครที่พบผู้ติดเชื้อ ทางกรุงเทพมหานครก็ได้มีการกำหนดพื้นที่เป้าหมายในรัศมี 100 เมตร จากบ้าน ที่ทำงาน และโรงเรียนของผู้ป่วยเพื่อทำการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ป้องกันการแพร่กระจายของเชื้ออีกด้วย

ในปัจจุบัน แม้ในประเทศไทยจะยังพบผู้ติดเชื้อไม่มากเท่ากับประเทศอื่น และยังไม่พบผู้เสียชีวิตจากโรคนี้  แต่ก็ยังไม่มีวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ ดังนั้น หากต้องการป้องกันตนเองจากการติดเชื้อไวรัสซิกา รวมไปถึงเชื้ออื่นๆ ที่มียุงลายเป็นพาหะ ทุกๆ คนจึงควรเริ่มต้นด้วยการดูแลตัวเองก่อนเป็นอันดับแรก โดยการพยายามหลีกเลี่ยงจากการถูกยุงลายกัด หรือหลีกเลี่ยงจากการเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดหรือสุ่มเสี่ยง

นอกจากนี้ วิธีที่ป้องกันยุงลายที่ง่ายที่สุดที่ทุกคนทำได้ คือ การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันและกำจัดยุงที่มีจำหน่ายอย่างมากมายในท้องตลาด ไม่ว่าจะเป็น ยาขดจุดกันยุง สเปรย์กันยุงที่ใช้ฉีดตามอาคารบ้านเรือน  หรือสเปร์ยโลชั่นกันยุง เป็นต้น

Share:

บทความที่เกี่ยวข้อง

ข่าวและกิจกรรม

สาระน่ารู้