ก่อนที่ยุงจะโตเต็มวัย

ก่อนที่ยุงจะเติบโตอย่างเต็มวัย และสามารถออกหากินโดยการดูดเลือดของเราไปเป็นอาหารนั้น แน่นอนว่ามันจะต้องเคยเป็นลูกน้ำมาก่อน แล้วในระยะที่เป็นลูกน้ำ มันมีวิถีชีวิตอย่างไร โหดร้ายเหมือนตอนที่โตเต็มวัยเป็นยุงแล้วหรือไม่ สำหรับใครที่เกิดความสงสัยหรือสนใจ  สามารถทำความรู้จักพวกมันได้จาก 10ข้อต่อไปนี้

  1. ในขณะที่ลูกน้ำอาศัยอยู่ในน้ำและค่อยๆ เติบโตนั้น มันจะทำการลอกคราบตัวเองถึง 4 ครั้งด้วยกัน ก่อนที่จะพัฒนาเป็นตัวโม่งในระยะเวลาต่อไป
  2. ระยะเวลาที่ลูกน้ำจะกลายเป็นตัวโม่งนั้น คือระยะเวลา 7-10 วันโดยประมาณ
  3. แน่นอนว่าลูกน้ำโดยส่วนใหญ่จะต้องอาศัยและหากินอยู่ในน้ำ หากปราศจากน้ำแล้ว มันจะไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ (ยกเว้นลูกน้ำของยุงบางชนิดที่อึดและมีความสามารถในการปรับตัว)
  4. เห็นตัวเล็กๆ แบบนี้ แต่อวัยวะที่ใหญ่ที่สุดของลูกน้ำ คืออวัยวะส่วนอกของมันนั่นเอง
  5. ลูกน้ำกินอะไร? แน่นอนว่าลูกน้ำไม่ได้กินน้ำหวานหรือเลือดเหมือนยุงที่โตเต็มวัย อาหารที่ลูกน้ำกินจะได้แก่พวก โปรโตชัว  ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่อาศัยอยู่ในน้ำ  รวมถึงอาหารขนาดเล็กอื่นๆ  ส่วนวิธีการหากินของลูกน้ำนั้นจะแตกต่างกันออกไป มีทั้งหากินแถวๆ ผิวน้ำ และห้อยหัวหากินใต้น้ำ ขึ้นอยู่กับว่าเป็นลูกน้ำของยุงชนิดใด
  6. ในระยะที่เป็นลูกน้ำนั้น มันจะหิวและกินเก่งมาก สำหรับลูกน้ำบางชนิด หากหาอาหารไม่ได้ มันสามารถกินพี่น้องของมันเองได้เลยทีเดียว
  7. อุณหภูมิและปัจจัยของธรรมชาติ นับว่ามีอิทธิพลอย่างมากต่อการฟักตัวจากไข่ของลูกน้ำ ยิ่งอุณหภูมิมีความเย็นเท่าไหร่ ลูกน้ำก็จะฟักตัวออกมาจากไข่ได้ช้าเท่านั้น
  8. ลูกน้ำหายใจทางไหน? โดยทั่วไปลูกน้ำจะหายใจผ่านท่อหายใจบนผิวน้ำ แต่ลูกน้ำของยุงเสือจะมีความสามารถในการหายใจที่แตกต่างจากลูกน้ำของยุงชนิดอื่นๆ นั่นคือ สามารถหายใจโดยใช้ออกซิเจนจากรากของพืชน้ำ ที่พวกมันใช้ท่อหายใจแทงเข้าไปนั่นเอง
  9. ลูกน้ำของยุงก้นปล่องก็มีการหายใจที่แตกต่างจากเพื่อนเช่นกัน โดยมันจะต้องลอยตัวหายใจผ่านรูหายใจ ในลักษณะที่ขนานกับผิวน้ำ เนื่องจากมันไม่มีท่อสำหรับหายใจเหมือนลูกน้ำของยุงชนิดอื่นๆ
  10. ลูกน้ำถือเป็นอาหารอันโอชะของปลาหลากหลายชนิด ดังนั้น ลูกน้ำจึงสามารถสร้างรายได้ให้กับผู้เพาะเลี้ยงได้ ซึ่งที่ผ่านมามีการส่งออกลูกน้ำไปยังต่างประเทศ ทั้งรูปแบบสด แบบแช่แข็ง และแบบแห้ง

ทั้งนี้ ลูกน้ำเป็นระยะหนึ่งในวงจรชีวิตของ “ยุง” และยุงก็เป็นพาหะที่นำโรคมาสู่คนมากมาย ดังนั้น หากไม่ได้ทำการเพาะเลี้ยงลูกน้ำด้วยวิธีที่เหมาะสมเพื่อใช้ประโยชน์   ก็ควรทำการกำจัด ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ และตัดวงจรชีวิตของมันก่อนที่จะเติบโตมาเป็นยุง
นอกจากนี้ การนำสเปรย์กำจัดยุงมาใช้ฉีดพ่นในครัวเรือน เพื่อกำจัดยุงที่มีอยู่ และป้องกันไม่ให้มันมีโอกาสออกวางไข่เพิ่มขึ้น ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยให้ตัวเราและคนในครอบครัวห่างไกลจากยุง และโรคภัยต่างๆ ที่มียุงเป็นพาหะได้เช่นกัน

อ้างอิงข้อมูลจาก
http://www.med.cmu.ac.th/dept/parasite/public/Mosquito.htm
http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9480000078856

Share:

บทความที่เกี่ยวข้อง

ข่าวและกิจกรรม

สาระน่ารู้