หากพูดถึง “มดแดง” เชื่อว่าหลายคนคงจะจำความรู้สึกตอนโดนกัดได้เป็นอย่างดี และคงผ่านประสบการณ์การโดนกัดกันมาไม่มากก็น้อยเลยทีเดียว
ทั้งนี้ ไม่เพียงแต่พิษจากมดแดงจะทำให้ใครต่อใครเจ็บจนขยาดเท่านั้น แต่มดแดงยังสร้างความเสียหายให้กับอาหารของเรา ทั้งยังมีอีก 10 เรื่องราวที่ใครหลายคนยังไม่รู้ต่อไปนี้
- มดแดง เป็นมดที่เลือกทำรังบนต้นไม้ โดยส่วนใหญ่จะเป็นต้นที่มีใบขึ้นหนาแน่น เป็นไม้ยืนต้น โดยเฉพาะต้นมะม่วง (จนเกิดเป็นที่มาของคำพังเพยว่า “มดแดงแฝงพวงมะม่วง”)
- สำหรับในรังของมดแดงนั้น จะมีมดตัวหนึ่งที่เป็นนางพญาหรือเป็นราชินีมด ซึ่งเปรียบเสมือนผู้นำ คอยวางไข่ บริหารจัดการไข่ทุกอย่าง รวมถึงดูแลความเป็นไปของบริวารมดทุกตัวในรัง โดยนางพญามดหรือราชินีมดนี้ จะมีรูปลักษณ์แตกต่างจากมดแดงทั่วไปอย่างชัดเจน
- นอกจากราชินีมดแล้ว ครอบครัวของมดจะประกอบไปด้วย “มดงาน” ด้วย ซึ่งมดงานจะเป็นเหมือนแรงงานชั้นยอด โดยภายในรังจะมีมดงานหลายระดับ แต่ละระดับจะแบ่งหน้าที่ในการทำงานที่แตกต่างกันออกไป ตั้งแต่หาอาหาร ดูแลราชินีมด และอื่นๆ อีกมากมาย เปรียบเสมือนทีมเวิร์คในองค์กรก็ว่าได้
- เคยสงสัยกันหรือไม่ว่า มดแดงโน้มเอาใบ้ไม้แต่ละใบมาประกบติดกันเพื่อสร้างเป็นรังใหญ่ๆได้อย่างไร ? …ที่มันทำอย่างนั้นได้ก็เพราะว่า ตัวอ่อนของมดสามารถปล่อยเส้นใยที่มีลักษณะเหนียวๆ ออกมาจากตัวได้ ดังนั้น มดงานที่ทำหน้าที่สร้างรัง จึงใช้เส้นใยจากตัวอ่อนนี้มาประกบใบไม้แต่ละใบให้ติดกัน จนกลายเป็นรังที่แข็งแรงนั่นเอง
- แน่นอนว่ามดแดงไม่สามารถพูดได้ แต่มันก็มีวิธีสื่อสารระหว่างกันเหมือนกับสัตว์ชนิดอื่นๆ โดยวิธีในการสื่อสารของมดแดงนั้น จะมีทั้งการปล่อยสารฟีโรโมน รวมไปถึงการแสดงท่าทางต่างๆ โดยสัญญาณที่สื่อสารถึงกันเหล่านี้ จะบ่งบอกได้ถึงแหล่งอาหารที่มันพบเจอ รวมถึงศัตรูที่กำลังมาเยือนนั่นเอง… ดังนั้นแล้ว หากเห็นว่ามดเดินตามกันมาเป็นแถวๆ หรือทำท่าทางเหมือนกำลังคุยกัน ขยับหัว ส่ายลำตัวไปมา จึงไม่ต้องแปลกใจ
- ไม่เพียงแต่การสื่อสารที่น่าทึ่ง รวมถึงความขยันและความสามัคคีกันของมดแดงเท่านั้น แต่มดแดงยังเป็นสัตว์ที่รู้จักการวางแผนที่ดีอีกด้วย จะเห็นได้ว่า มดแดงจะช่วยกันทำรังสำรองเอาไว้หลายรังเพื่อเอาไว้ใช้ในยามจำเป็นต่างๆ ทั้งใช้สำหรับถ่ายเทและจัดสรรจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น หรือเอาไว้หลบซ่อนอาหาร เป็นต้น
- สำหรับอาหารของมดแดงนั้น นอกไปจากน้ำตาลที่มดแดงโปรดปรานเป็นพิเศษแล้ว มดแดงยังกินอาหารอีกหลากหลายชนิดด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นพืช ซากแมลงแห้งๆ ที่ตายแล้ว ของเหลวจากแมลง และอื่นๆ อีกมากมาย ไม่เว้นแม้กระทั่งเศษอาหารชิ้นเล็กชิ้นน้อยในบ้าน จึงไม่ต้องสงสัยเลย หากมดแดงจะยกขบวนกันเข้ามาในบ้านของเรา
- แม้ว่าเพลี้ยจะเป็นศัตรูกับพืช แต่สำหรับมดแดงแล้ว เพลี้ยถือเป็นมิตรที่ดีของมดแดงเลยทีเดียว เนื่องจากมดแดงจะเลี้ยงเพลี้ยไว้ เพื่อกินของเหลวหวานๆ ที่เพลี้ยปล่อยออกมานั่นเอง
- มดแดงที่เราเห็นว่าไม่มีปีกนั้น จะเป็นมดงานทั่วไป แต่มดแดงที่มีปีกจริงๆ จะได้แก่มดนาง (ตัวเมีย) และมดตัวผู้
- พิษของมดแดงจะถูกปล่อยออกมาจากทางปลายท้องหลังจากที่มันทำการกัดเราเรียบร้อยแล้ว ซึ่งใครที่เคยโดนกัดคงจะเกิดอาการแสบๆ คันๆ และเป็นตุ่มแดงไม่น้อยเลยทีเดียว เรียกได้ว่ามดแดงมีพิษสงที่แตกต่างจากขนาดตัวจริงๆ
อย่างไรก็ตาม แม้มดแดงจะเป็นแมลงที่น่าพิศวงสักเพียงไหน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า หากมดแดงได้เข้ามาในบ้านของเราก็คงจะไม่ใช่เรื่องดีเท่าไหร่นัก ฉะนั้น นอกจากการป้องกันด้วยการเก็บกวาดเศษอาหารบนพื้นให้เรียบร้อย รวมถึงเก็บอาหารที่ทานไม่หมดเข้าตู้แล้ว ก็ยังสามารถใช้สเปรย์สำหรับแมลงคลาน ฉีดพ่นภายในบ้านที่มีมดแดงอาศัยอยู่ได้เช่นเดียวกัน
อ้างอิงข้อมูลจาก
http://oknation.nationtv.tv/blog/print.php?id=277239
http://redantbehavior.exteen.com/
http://www.indepencil.com