ยุงลายตัวเมีย มีชีวิตอยู่ได้นานมากกว่าที่เราคิด!

สงสัยกันหรือไม่คะว่า ทำไมเจ้ายุงตัวร้ายถึงมีอยู่ในบ้านเป็นจำนวนมาก?

ทั้งนี้ สาเหตุส่วนหนึ่งอาจจะไม่ใช่เพียงเพราะแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงที่มีอยู่มาก และไม่ได้รับการทำลายเท่านั้น แต่ยังอาจรวมไปถึงการที่ยุงสามารถวางไข่ได้หลายฟองต่อครั้ง และยุงทุกตัวไม่ได้มีชีวิตอยู่ได้แค่ 7 วันอย่างที่เราเข้าใจกันนั่นเอง

อย่างที่เราทราบกันดีว่า หลังจากที่ยุงดูดเลือดจนได้รับโปรตีนไปเลี้ยงไข่อย่างเพียงพอแล้ว ยุงจะบินไปหาแหล่งน้ำที่เหมาะสมเพื่อทำการวางไข่ โดยยุงลาย จะชอบวางไข่ในน้ำนิ่งที่ไม่สกปรก อย่างเช่นน้ำในถังที่อยู่ในห้องน้ำ  น้ำในจานรองขาตู้กับข้าว น้ำในแจกันดอกไม้ น้ำในตุ่มที่ไม่มีฝาปิด รวมไปถึงน้ำฝนที่ขังอยู่ตามภาชนะต่างๆ ในบริเวณบ้านด้วย ซึ่งหลังจากที่ยุงวางไข่แล้ว ภายในไม่กี่วัน ตัวอ่อนจะฟักออกมากลายเป็นลูกน้ำอย่างที่เรารู้จักกัน จากนั้นจะค่อยๆ กลายเป็นตัวโม่ง ก่อนที่จะพัฒนากลายเป็นตัวยุง โดยยุงเพศผู้ที่ทำหน้าที่ผสมพันธุ์และกินน้ำหวานเป็นอาหารหลัก จะมีอายุอยู่ได้เพียง 7 วัน แต่ยุงเพศเมียทีทำหน้าที่วางไข่และดูดเลือดเป็นอาหารด้วยนั้น จะมีอายุอยู่ได้นานตั้งแต่ 2 – 6 สัปดาห์ได้เลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม การที่ยุงเพศเมียมีอายุที่นาน ย่อมส่งผลให้การวางไข่มีโอกาสเกิดขึ้นได้หลายครั้ง ทั้งยังส่งผลให้ยุงต้องออกหาดูดเลือดเพื่อนำไปใช้ในการวางไข่ของตัวเองอีกด้วย ซึ่งนอกจากสัตว์ชนิดต่างๆ ที่ยุงตัวเมียไปดูดเลือดแล้ว มนุษย์อย่างเราเอง ก็มีโอกาสที่จะถูกยุงดูดเลือดได้อยู่ตลอดเวลาเช่นกัน

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า  ภายหลังจากการถูกยุงดูดเลือด นอกจากจะเกิดตุ่มบวมแดงและมีอาการคันที่ผิวหนัง เนื่องจากแพ้น้ำลายยุงแล้ว เรายังมีโอกาสที่จะได้รับเชื้อไข้เลือดออก ไข้ซิกา รวมถึงเชื้อไข้หวัดอื่นๆ ที่มียุงเป็นพาหะอีกด้วย ฉะนั้นแล้ว เราจึงควรหาวิธีป้องกันและกำจัดยุงอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มตั้งแต่การทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ต่างๆ ในบริเวณบ้าน เพื่อป้องกันไม่ให้ยุงมีโอกาสในการวางไข่ นอกจากนี้ ยังสามารถใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันยุง เพื่อช่วยลดปัญหายุงกวนใจอีกทางหนึ่งด้วยเช่นกัน

อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก
http://www.med.cmu.ac.th/dept/parasite/public/Mosquito.htm

Share:

บทความที่เกี่ยวข้อง

ข่าวและกิจกรรม

สาระน่ารู้